วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประวัติบุคคลของไทย


พ่อขุนรามคำแหงมหาราช 
พระราชประวัติ 

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช  เป็นพระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (บางกลางหาว)   กับนางเสือง มีพระนามเดิมว่า  พระราม  เมื่อพระชนมายุ 19 พรรษา ได้ตามเสด็จพระบิดาไปในการสงครามระหว่างสุโขทัย กับเมืองฉอด ทรงช่วยพระบิดาทำยุทธหัตถีชนะขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด พระบิดาจึงเฉลิมพระนามให้เป็น  พระรามคำแหง "
ในช่วงรัชสมัยพ่อขุนบางเมือง ซึ่งเป็นพระเชษฐา พระรามคำแหงทรงเป็นกำลังสำคัญในการรบปราบปรามเมืองชายแดนหลายแห่ง พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๒๒
 
                                        พระราชกรณียกิจที่สำคัญ
 
-  ทรงขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวางกว่ารัชสมัยใดๆ
-  ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยใน พ.ศ. ๑๘๒๖
-  ทรงส่งเสริมการค้า ทั้งการค้าภายในและการค้าภายนอก เช่น  ให้งดเว้นการเก็บจกอบหรือภาษีผ่านด่าน
-  ทรงบำรุงศาสนา เช่น ให้นิมนต์พระสงฆ์นิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์จากนครศรีธรรมราชมาเป็นพระสังฆราช
และริเริ่มการนิมนต์พระสงฆ์มาแสดงธรรมในวันพระ
-  ทรงดูแลทุกข์สุขของราษฎรอย่างใกล้ชิด เช่น ให้ผู้เดือดร้อนมาสั่นกระดิ่ง ถวายฎีกาได้ ให้ทายาทมีสิทธิได้รับมรดก  
จากพ่อแม่ที่เสียชีวิตไป เป็นต้น
-  ทรงสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัฐใกล้เคียง ได้แก่ ทรงเป็นพระสหายกับพญามังรายแห่งอาณาจักรล้านนา
พญางำเมือง แห่งแคว้นพะเยา ทรงมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพระเจ้าฟ้ารั่ว แห่งอาณาจักรมอญและทรงเป็นรัฐบรรณาการกับจีน             
 

พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) 
 
พระราชประวัติ 
 
              พญาลิไท หรือ พระยาลิไท หรือ พระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรม-ราชาธิราช หรือพระมหาธรรมราชา ๑  ทรงเป็นพระราชโอรสของพระยาเลอไทและพระราชนัดดา(หลานปู่) ของพ่อขุนรามคำแหง  ครองราชย์  พ.ศ. ๑๘๙๐ แต่ไม่ทราบปีสิ้นสุดรัชสมัยที่แน่นอน สันนิษฐานว่าอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๑๑ - ๑๙๖๖  พระมหาธรรมราชาที่ ๑ ทรงเป็นแบบฉบับของกษัตริย์ในคติธรรมราชา ทรงปกครองบ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองจนสุโขทัยกลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา และทรงปฏิบัติพระองค์ชักนำชนทั้งหลายให้พ้นทุกข์  หลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงว่าพระองค์มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกเป็นอย่างดี  ได้แก่  วรรณกรรมเรื่อง  ไตรภูมิพระร่วง  วรรณคดีชิ้นแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๘๘ ที่ทรงนิพนธ์ขึ้นตั้งแต่ก่อนเสวยราชย์หลังจากทรงเป็นรัชทายาทครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ ๘ ปี จึงเสด็จมาครองสุโขทัยเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๐ โดยต้องใช้กำลังทหารเข้ามายึดอำนาจเพราะที่สุโขทัยหลังสิ้นรัชกาลพ่อขุนงัวนำถมแล้วเกิดการกบฏการสืบราชบัลลังก์ ไม่เป็นไปตามครรลองครองธรรม 
 
    พระราชกรณียกิจที่สำคัญ
 
   - การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ   เพราะสุโขทัยหลังรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว     บ้านเมืองแตกแยกแคว้นหลายแคว้นในราชอาณาจักรแยกตัวออกห่างไป ไม่อยู่ในบังคับบัญชาสุโขทัยต่อไป                     
    - พญาลิไททรงคิดจะรวบรวมสุโขทัยให้กลับคืนดังเดิม แต่ก็ทรงทำไม่สำเร็จ นโยบายการปกครองที่ใช้ศาสนาเป็นหลักรวมความเป็นปึกแผ่นจึงเป็นนโยบายหลักในรัชสมัยนี้                      
    - ทรงสร้างเจดีย์ที่นครชุม (เมืองกำแพงเพชร) สร้างพระพุทธชินราชที่พิษณุโลก
    - ทรงออกผนวช เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๕ การที่ทรงออกผนวช นับว่าทำความมั่นคงให้พุทธศาสนามากขึ้น   ดังกล่าวแล้วว่า หลังรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว บ้านเมืองแตกแยก วงการสงฆ์เองก็แตกแยก แต่ละสำนักแต่ละเมืองก็ปฏิบัติแตกต่างกันออกไป เมื่อผู้นำทรงมีศรัทธาแรงกล้าถึงขั้นออกบวช พสกนิกรทั้งหลายก็คล้อยตามหันมาเลื่อมใสตามแบบอย่างพระองค์ กิตติศัพท์ของพระพุทธศาสนาในสุโขทัยจึงเลื่องลือไปไกล พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่หลายรูปได้ออกไปเผยแพร่ธรรมในแคว้นต่างๆ เช่น อโยธยา หลวงพระบาง เมืองน่าน พระเจ้ากือนา แห่งล้านนาไทย  ได้นิมนต์พระสมณะเถระไปจากสุโขทัย เพื่อเผยแพร่ธรรมในเมืองเชียงใหม่   พระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือพญาลิไท       มีมเหสีชื่อพระนางศรีธรรม ทรงมีโอรสสืบพระราชบัลลังก์ต่อมา  คือ  พระมหาธรรมราชาที่สองปีสวรรคตของกษัตริย์ พระองค์นี้ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คงอยู่ในระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๒๗
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  
 
พระราชประวัติ

                          สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีนามเดิมว่า  สิน  ประสูติเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๗   ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  เป็นบุตรของนายไหฮอง และนางนกเอี้ยง   เจ้าพระยาจักรีรับไปเป็นบุตรบุญธรรม   ต่อมาเข้ารับราชการจนได้ตำแหน่งหลวงยกกระบัตรเมืองตาก และเป็นเจ้าเมืองตากครั้นเมื่อพม่าล้อมกรุงใน พ.ศ. ๒๓๐๘  พระยาตากถูกเรียกตัวเข้าป้องกันพระนครหลวง  แต่เกิดท้อใจว่าหากสู้กับพม่าที่อยุธยาต้องเสียชีวิตโดยเปล่าประโยชน์เป็นแน่  จึงพาทัพตีฝ่าหนีไปตั้งตัวที่จันทบูร พอถึงเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยา  ก็เสียแก่พม่า แต่หลังจากนั้น ๗ เดือน  พระยาตากก็ได้ยกทัพมาขับไล่พม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาได้ทั้งหมด แต่เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาเสียหายมาก  จึงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง  และประกอบพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๓๑๐ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔   แต่คนทั่วไปนิยมออกพระนามว่า  สมเด็จพระเจ้าตากสิน  พร้อมทั้งพระราชทานนามเมืองว่า  กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร   เหตุที่เลือกธนบุรีเป็นเมืองหลวง  เนื่องจากทรงเห็นว่าธนบุรีเป็นเมืองเล็กป้องกันรักษาง่ายอยู่ใกล้ปากอ่าวสะดวกแก่การติดต่อค้าขายกับต่างชาติ และการลำเลียงอาวุธ มีเส้นทางคมนาคมสะดวกโดยเฉพาะทางเรือมีแม่น้ำคั่นกลาง  เช่นเดียวกับพิษณุโลกและสุพรรณบุรี  เพื่อจะได้ใช้กองทัพเรือสนับสนุนการรบ  และตั้งอยู่ไม่ไกลศูนย์กลางเดิมมากนัก เป็นแหล่งรวมขวัญและกำลังใจของผู้คน โดยอาศัยมีผู้นำที่เข้มแข็ง  
 
พระราชกรณียกิจที่สำคัญที่สุด
        การรวบรวมบรรดาหัวเมืองต่างๆ เข้าอยู่ภายใต้การปกครองเดียวกัน เนื่องจากมีคนพยายามตั้งตัวขึ้นเป็นผู้นำในท้องถิ่นต่างๆ มากมาย  เช่น  ชุมนุมเจ้าเมืองพิษณุโลก ชุมนุมเจ้าเมืองพิมาย ชุมนุมเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น    ตลอดรัชกาล มีศึกสงครามเกิดขึ้นมากมาย ได้แก่ ศึกพม่าที่บางกุ้ง ศึกเมืองเขมร ศึกเมืองเชียงใหม่ ศึกเมืองพิชัย ศึกบางแก้ว ศึกอะแซหวุ่นกี้ ศึกจำปาศักดิ์ ศึกวียงจันทน์   ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีได้รับชัยชนะในการศึกมาโดยตลอดในสมัยกรุงธนบุรีตอนปลาย  จากหลักฐานต่างๆ มีระบุไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีสติฟั่นเฟือน  ไม่อยู่ในทศพิธราชธรรม  กระทำการข่มเหงประชาราษฎร์ให้ได้รับความเดือดร้อน  เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายในกรุงธนบุรี  พระยาสรรค์กับพวกควบคุมสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไว้  ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)  ได้ยกทัพกลับจากการปราบจลาจลที่เขมร  และปรึกษากับเหล่าขุนนางกรณีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  โดยเห็นว่าควรนำไปประหารชีวิต สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  สวรรคตเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕